ในมิติของการพัฒนาเมือง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นไม่ค่อยบ่อยคือ ‘การย้ายเมืองหลวง’ เพราะภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ แถมยังต้องโยกย้ายสิ่งอำนวยความสะดวกและประชากรนับล้านคน
แต่การย้ายศูนย์กลางประเทศก็เป็นแนวคิดที่หลายเมืองใหญ่หันมาพิจารณา เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาเมืองที่ซับซ้อน รวมถึงหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีการถกเถียงกันถึงความจำเป็นในการย้ายเมืองหลวง เพราะผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่ากรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำในอีก 50 ปีข้างหน้า แต่ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการจากภาครัฐว่าจะย้ายเมืองหลวงจริงหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ประเทศที่จะเริ่มย้ายเมืองหลวงเร็วๆ นี้คือ ‘อินโดนีเซีย’ โดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ประกาศแผนการนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 จากนั้นก็ดำเนินการย้ายที่ตั้งเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังผืนป่าในจังหวัดกาลีมันตัน บนเกาะบอร์เนียว โดยเมืองหลวงใหม่ที่ทั่วโลกจะได้ยลโฉมกันมีชื่อว่า ‘นูซันตารา’ (Nusantara) ซึ่งแปลว่า ‘หมู่เกาะ’ ในภาษาอินโดนีเซียนั่นเอง
สาเหตุสำคัญที่อินโดนีเซียต้องย้ายศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ เกิดจากปัญหาความแออัดและจำนวนประชากรในกรุงจาการ์ตาที่มีมากเกินไป หรือราว 10.5 ล้านคน ในขณะที่พื้นที่มีอยู่เพียง 661.5 ตารางกิโลเมตร อธิบายให้เห็นภาพคือ ขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า แต่มีประชากรหนาแน่นเกือบเท่ากัน
ความหนาแน่นของประชากรนำมาซึ่งปัญหาเมืองที่ซับซ้อน ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การจราจรติดขัด พื้นดินยุบเพราะน้ำประปาถูกสูบไปใช้ นี่ยังไม่รวมถึงมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 และการคาดการณ์ว่าหนึ่งในสามของเมืองอาจจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2050 ทำให้ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ต้องรีบมองหาฐานที่ตั้งใหม่ให้กับเมืองหลวง
คาดการณ์ว่านูซันตาราจะมีขนาดครอบคลุม 2,560 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเมืองหลวงเดิมเกือบ 4 เท่า แถมยังล้อมรอบด้วยภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา ป่าไม้ และอ่าวธรรมชาติ ทั้งนี้ การก่อสร้างเมืองนูซันตาราเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2019 และอาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษจึงจะสร้างเสร็จสมบูรณ์
นอกจากการแก้ปัญหาเมืองแออัดที่เจอในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียยังต้องการสร้างมหานครแห่งใหม่ให้เป็น ‘เมืองป่าไม้ที่ยั่งยืน’ (Sustainable Forest City) ที่ยึดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าย้ายประชาชนมากถึง 1.9 ล้านคนไปยังนูซันตาราภายในปี 2045 โดยข้าราชการบางส่วนจะเริ่มย้ายออกเร็วที่สุดภายในปี 2024 เชื่อว่าอีกไม่นาน ทั่วโลกจะได้เห็นกันว่านูซันตาราจะมีหน้าตาเป็นไปตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนไว้หรือไม่